** ติดต่อ : คุณน้ำหวาน - โทร 083 031 1924, Line ID : beautifulphuket2013   /   คุณปีใหม่ - โทร 088 765 4611, Line ID : 0887654611 /   คุณตะวัน - โทร 088 750 3140, Line ID : phukettime-tour/   คุณแนนซี่ - โทร 083 121 8855, Line ID : timetour2018      


การดำน้ำ

divingscubadiving

การดำน้ำ
spaceหากจะชมโลกใต้ทะเลให้ได้อรรถรสนั้นมี 2 วิธี คือ การดำผิวน้ำ “Skin diving” หรือที่เรียกกันจะชินปากแล้วว่า snorkeling และการดำน้ำแบบ “Scuba Diving


การดำผิวน้ำ Snorkeling

เหมาะสำหรับการชมปะการังน้ำตื้น ซึ่งแหล่งที่สำคัญ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะตะรุเตา จ.ระยอง ฯลฯ โดยอุปกรณ์สำคัญประกอบด้วย หน้ากาก (Mask) ท่อหายใจ (Snorkel) เสื้อชูชีพ ยิ่งถ้ามีตีนกบด้วยจะช่วยให้ว่ายเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ดีขึ้น หลักการง่ายๆ ในการดำผิวน้ำ คือ การหายใจทางปากผ่านท่อสนอร์คเกิล เพื่อความปลอดภัยไม่ควรก้มหน้าจนคางชิดหน้าอก เพราะระดับน้ำที่ไหลผ่านเข้ามาทางท่อสนอร์เกิลอาจทำให้สำลักได้

เคล็ดลับป้องกัน

ฝ้าขึ้นหน้ากาก ให้ใช้แชมพูเด็กสูตรไม่ระคายเคืองชโลมให้ทั่ว พยายามอย่าถอดหน้ากากบ่อย และทุกครั้งที่ถอดออกจากตาอย่าคาดบนศีรษะเพราะจะหลุดหายได้ง่าย ถ้าจำเป็นต้องถอดก็ให้สวมพักไว้ที่คอแทน สำหรับเสื้อชูชีพควรเลือกให้ขนาดพดดีตัว และถ้ามีสายระโยงระยางให้หาที่เสียบเก็บให้เรียบร้อยกันไปเกี่ยวกับโขดหินหรือแนวปะการังขณะดำน้ำพยายามทรงตัวในแนวระนาบกับผิวน้ำให้มากที่สุด และแม้จะตื้นก็ห้ามยืนบนโขดหินเด็ดขาด นอกจากกันหินบาดแล้วยังป้องกันปะการังเสียหายอีกด้วย

สำหรับการดำน้ำแบบ SCUBA

(self contained underwater breathing apparatus) จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการหายใจใต้น้ำ เพื่อให้สามารถแหวกว่ายได้เช่นเดียวกับปลา เหมาะกับการชมโลกใต้ทะเลที่ลึกเกินกว่าวิธี snorkeling โดยแหล่งดำน้ำลึกสำคัญๆ ของไทยอย่างเช่นสิมิกัน เกาะเต่า หมู่เกาะตะรุเตา ทะเลชุมพร ทะเลกระบี่ ฯลฯ

อุปกรณ์สำคัญในการดำน้ำแบบ SCUBA ได้แก่

fin

ถังอากาศ ถังมีหลายขนาด แต่ขนาดมาตรฐานคือ 11.5 ลิตร
ชุดปรับความดันและสายช่วยหายใจ ชุดปรับแรงดันจะลดความดันสูงจากในถังให้เป็นความดันต่ำ ที่พอเหมาะสำหรับการหายใจ เรียกว่า เรกูเลเตอร์ (regulators) เรียกสั้นๆ ว่า “เร็ก” จากเร็กจะมี สายต่อไปใช้งานอีก 4 สาย สายหนึ่งเราใช้หายใจ อีกสายหนึ่งเผื่อไว้สำรอง หรือมีไว้แบ่งอากาศ ให้เพื่อนคนอื่นที่อากาศหมด อีกสายหนึ่งต่อเข้าชุดวัดความดันเพื่อที่ดูว่ามีปริมาณอากาศเหลือแค่ไหน อีกสายต่อเข้า BCD
BCD (buoyancy control device) เสื้อชูชีพที่สามารถปรับสภาพการจมการลอยได้
ชุดดำน้ำ (wet suit) มี 2 แบบ wet suit เป็นชุดปกติของนักดำน้ำ ส่วน dry suit เป็นชุดที่ไม่ปกติ ใช้กรณีที่ดำในเขตน้ำเย็นจัด เวตสูทมีทั้งแบบขายาวแขนยาว และแบบขาสั้น แขนสั้น แบบแขนสั้นก็ดี ราคาถูกดี แบบแขนยาวขายาวก็ดี ใส่แล้วหุ้มหมดทั้งแขนและขา นอกจากเวตสูทจะช่วยป้องกัน การสูญเสียความร้อนจากตัวคนไปสู่น้ำแล้ว มันยังช่วยให้ลอยตัวด้วย แล้วยังช่วยปกป้องผิวหนังเรา ในกรณีที่เราไปสัมผัสกับพืชหรือสัตว์มีพิษโดยบังเอิญ เช่น แมงกะพรุนไฟ เป็นต้น
ตีนกบ (fin) ช่วยให้เรามีแรงส่งให้ว่ายน้ำได้เร็วขึ้น แบ่งเป็น 2 แบบ คือ full foot คือฟินแบบสวม เข้าไปทั้งเท้าเหมือนใส่รองเท้า อีกแบบคือแบบ open hill คือแบบเปิดส้น แบบนี้จะต้องใส่รองเท้าก่อนที่จะใส่ฟิน
เข็มขัดตะกั่ว ใช้ถ่วงให้จมน้ำ จำนวนที่แต่ละคนใช้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและมวลกาย
หน้ากากดำน้ำ บางแบบสามารถถอดเปลี่ยนใส่เลนส์สายตาได้ บางครั้งนักดำน้ำแบบ SCUBA นิยมติดสนอร์เกิลไว้ที่หน้ากากด้วย เพื่อที่จะใช้หายใจเมื่ออยู่บริเวณผิวน้ำเพื่อประหยัดอากาศในถังเก็บไว้ใช้ใต้น้ำ

นอกจากอุปกรณ์หลักๆ เหล่านี้แล้วก็ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลายชนิดให้เลือกใช้ เช่น ไฟฉายใต้น้ำ มีดดำน้ำ ซึ่งสิ่งที่นักดำน้ำควรซื้อไว้เป็นของใช้ส่วนตัวคือ ชุดดำน้ำ เพราะเป็นของส่วนตัว สนอร์เกิลก็สำคัญเลยเพราะต้องอมไว้ในปากด้วยราคาก็ไม่แพง fin ก็ควรซื้อเพราะว่าเราจะได้คุ้นเคยและใช้ได้ถนัด หน้ากากก็ควรซื้อ ถ้าใช้หน้ากากที่ไม่ดีหรือลงน้ำไปแล้วไม่ถูกใจจะมีผลต่อจิตใจอย่างมาก เช่นกลัว ถ้ามีเงินเหลือก็ควรซื้อชุดเร็ก เพราะต้องอมไว้ในปากเวลดำน้ำ ส่วน BCD ไม่ต้องซื้อ ไว้เช่าจากผู้ให้บริการดำน้ำได้
spaceผู้ที่จะดำน้ำลึกได้จะต้องผ่านหลักสูตรจากสถาบันดำน้ำอย่าง ANDI, IDEA, MDEA, NASE, NASDS ฯลฯ หลักสูตรการเรียนประกอบด้วย เทคนิคการดำน้ำ, เทคนิคการหลีกเลี่ยงปะการังขณะดำน้ำ, เทคนิคการเคลียร์หู, เทคนิคการแบ่งอากาศหายใจ, เทคนิคการใช้อากาศให้น้อยลง, วิธีปฏิบัติตัวในการดำน้ำเรือจม (wreck), เทคนิคการดำน้ำในกระแสน้ำ, วิธีการป้องกันการหลงทางใต้น้ำ, การดำน้ำลึกขึ้นจากที่ลึก ทำอย่างไรถึงจะปลอดภัย, การค้นหาสิ่งของใต้น้ำ, การทำหมายสำหรับกลับมาหาสิ่งของที่ตกลงไปในน้ำ, เทคนิคการใช้ถุงยก (lift bag) ฯลฯ

ข้อควรระวัง วันที่ไปดำน้ำต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนแต่หัวค่ำในคืนก่อนที่จะดำน้ำ ความเมื่อยล้าจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงกับ DCS การเมาไนโตรเจน และที่สำคัญเสี่ยงต่อการขาดความระมัดระวัง ดื่มน้ำให้เพียงพอ การขาดน้ำเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อ DCS และทำให้เมื่อยล้าเร็วขึ้น ควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์และกาเฟอีนในคืนก่อนจะดำน้ำ เพราะทั้งสองสิ่งก่อให้เกิดการขาดน้ำของร่างกายเป็นเวลานาน ตรวจสอบอุปกรณ์ก่อนลงน้ำ โดยเฉพาะเวลาที่จะต้องดำน้ำลึก นักดำน้ำจะมีความเครียดมากกว่าปกติ

เมื่อลงไปในน้ำควรตรวจสอบการจมลอย อย่าให้ตัวจมลงโดยเร็วเกินไป เวลาที่ดำกลับขึ้นมาต้องคอยปล่อยลมออกจากบีซีดีตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นตัวจะลอยเกินไป ทำให้ควบคุมความเร็วในการขึ้นได้ยากกว่าปกติ ระวังอัตราการหายใจ หายใจให้ลึก-ช้า และผ่อนคลาย เป็นเรื่องสำคัญเป็นพิเศษเวลาดำน้ำลึก

หลังจากการดำน้ำ ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ถึงแม้จะไม่ดำน้ำเกินขีดจำกัด เราก็ได้รับเอาก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในร่างกายจำนวนมาก ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังหนักเหนื่อยอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง และให้ดื่มน้ำมากๆ ห้ามขึ้นเครื่องบินทันที ปัจจุบันมีมาตรฐานอยู่ที่ 12 หรือบางองค์กรแนะนำว่า 18 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่องบิน

scubadiving

ไม่ว่าจะเลือกเข้าสู่โลกใต้ทะเลด้วย snorkeling หรือ SCUBA diving สิ่งสำคัญในการดำน้ำให้สนุกและปลอดภัยคือ เครื่องมือประจำกายที่จะช่วยระงับความกลัวและความตื่นเต้น นั่นคือ “สติ” อย่าลืมพกพาก่อนลงน้ำด้วยละ...