ข้อมูลภูเก็ต
ข้อมูลจังหวัดภูเก็ต
ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้
หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม
คำว่า ภูเก็ต นั้นเชื่อว่าเพี้ยนมาจากภาษามลายูคือ บูกิ๊ต ซึ่งแปลว่าภูเขา ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยตัวเมืองอยู่ที่ถลางซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองถลางเดิมมีขุนนางไทยคอยดูแลรักษาผลประโยชน์เพราะฝรั่งชาติฮอลันดามารับซื้อสินค้าจำพวกแร่ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ พระเจ้ากรุงอังวะยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ โดยแบ่งกองทัพยกไปตีเมืองกระ ระนอง ชุมพร ไชยา ตลอดลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังติดพันการศึกที่กาญจนบุรียกมาช่วยไม่ทัน พม่าส่งแม่ทัพชื่อยี่หวุ่น ยกทัพเรือมาตีได้ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้ ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจัน กับน้องสาวชื่อมุก จึงคิดอ่านกับกรรมการทั้งปวงตั้งค่ายใหญ่ขึ้น ๒ ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษเมื่อหมดเสบียงก็เลิกทัพกลับไป
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้วีรสตรีทั้งสอง เป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองตลอดมา เกาะถลางหรือเมืองถลาง ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต หรือเมืองภูเก็ตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ และหาดทราย น้ำทะเลสีฟ้าใส พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร ภูเก็ตแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้
ภูมิอากาศ
ภูเก็ตมีอากาศแบบฝนเมืองร้อน มีลมพัดผ่านตลอดเวลา อากาศอบอุ่นและชุ่มชื้นตลอดปี มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน ฤดูร้อนเริ่มเดือนธันวาคม-เดือนเมษายน ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดไม่มีฝน ท้องฟ้าแจ่มใส
อาณาเขต
• ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดพังงา เชื่อมโดยสะพานสารสินและสะพานท้าวเทพกษัตรี
• ทิศใต้ ติดกับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
• ทิศตะวันออก ติดกับทะเลเขตจังหวัดพังงา
• ทิศตะวันตก ติดกับทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลหาดทรายขาว น้ำทะเลใส แสงแดดจัดแจ่ม และความสะดวกสบายทั้งด้านการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บริษัทนำเที่ยว การแสดงอันเต็มไปด้วยสีสัน ฯลฯ ย่อมไม่มีใครไม่นึกถึงภูเก็ต เกาะขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศพื้นที่ประมาณ 543 ตร.กม. ของเกาะนี้โอบล้อมด้วยน้ำทะเลสีเขียวมรกตและมีหาดทรายขาวเนียน เหมาะแก่การพักผ่อน รวมทั้งยังเอื้อต่อการทำกิจกรรมสนุกในทะเลและริมทะเลอีกด้วย ความโดด เด่นของชายทะเลและกลุ่มเกาะในภูเก็ตเกิดจากภูมิประเทศที่เป็นชายฝั่งทะเลลด ตัว พื้นที่ส่วนที่ต่ำจะจมอยู่ใต้น้ำ ปรากฏเฉพาะยอดสูงเหลี่ยมล้ำเหนือผิวทะเลเป็นกลุ่มเกาะน่าเที่ยว สำหรับตัวเกาะใหญ่คือภูเก็ต นั้น ทางฝั่งตะวันตกมีลักษณ์เป็นอ่าวเว้าแหว่ง และปูลาดด้วยเม็ดทรายละเอียด เช่น หาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน เป็นต้น ส่วนทางด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนและหาดโคลน ขณะที่บริเวณทิศใต้มีแนวปะการังสวยงาม
นอกจากตัวเกาะใหญ่แล้ว เกาะเล็กเกาะน้อยที่ตั้งอยู่รอบๆ ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรมองข้ามเพราะมีหาดทรายขาว น้ำทะเลใสเช่นเกาะราชา เกาะเฮ เกาะมะพร้าวเป็นต้น
ไม่เพียงเพราะภูมิประเทศงดงามทำให้ภูเก็ตเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่นี้ยังเต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่สั่งสมหล่อหลอมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองอันยาวนานนับแต่ยุคต้นคริสตกาล ภูเก็ตซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า ถลาง เป็นเกาะที่นักเดินเรือ ซึ่งเดินทางระหว่างจีนและอินเดียรู้จักในนาม จังซีลอน เป็นทั้งท่าเรือและศูนย์กลางการค้า โดยมีสินค้าเด่นคือแร่ดีบุก เป็นสินทรัพย์ในดินที่สร้างรายได้ให้เมืองสืบต่อมาเนิ่นนาน
ล่วงมาสมัยรัชกาลที่ 1 ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ขึ้น เมื่อพม่ายกทัพมาตีเมืองถลางขณะนั้นเจ้าเมืองเพิ่งถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงจันผู้เป็นภรรยา และคุณมุกน้องสาว จึงร่วมกันนำกำลังผู้คนรับมือกับการตีเมืองของพม่าด้วยแผนการอันแยบยล จนพม่าถอยทัพกลับไปเพระความกล้าหาญและคุณงามความดีนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คุณหญิง จันเป็นท่านท้าวเทพกระษัตรีและคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทรปรากฏนามกระเดื่องใน ฐานวีรสตรีไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อบ้านเมืองสงบ บรรยากาศของการค้าขายก็กลับมาคึกคัก โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อความต้องการแร่ดีบุกของตลาดโลกเพิ่มขึ้นจนแรงงานขุดแร่ไม่เพียงพอ ถึงขนาดต้องรับคนจีนที่ทำเหมืองแร่อยู่ในปีนังและสิงคโปร์มาเป็นคนงาน ยุคนั้นเองที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้เข้ามาตั้งรกรากในภูเก็ต มีการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียลและตกแต่งรายละเอียด ด้วยศิลปะจีนอันเป็นเอกลัษณ์ของภูเก็ตเช่นที่เห็นทุกวันนี้
มาเยือนภูเก็ต แล้วคุณจะรู้ว่าเกาะแห่งนี้เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและทรัพยากรธรรมชาติที่มากมาย ทั้งบนดินและใต้น้ำรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสารพันที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย